เงินบริจาคกับการลดหย่อนภาษี

เงินบริจาค

เงินบริจาคกับการลดหย่อนภาษี เรื่องที่ทุกคนต้องรู้

หนึ่งในประเภทการลดหย่อนภาษีที่ผู้เสียภาษีทุกคนนิยมทำคือ การบริจาคเงิน นอกจากได้บุญกุศลที่ช่วยเหลือผู้อื่นแล้วก็ยังมีประโยชน์กับตนเองด้วย แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในการใช้เงินบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระในแต่ละปี มาศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ให้ชัดเจนกันเลยดีกว่า

เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้อย่างไรบ้าง

ปกติแล้วเงินบริจาคกับองค์กรต่าง ๆ เมื่อมีการออกใบเสร็จให้เรียบร้อยสามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่จะไม่เกิน 10% ของรายได้ หลังมีการหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว อย่างไรก็ตามจะมีเงินบริจาคบางกลุ่มที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคที่จ่ายไปจริง ทั้งนี้มูลค่าก็ยังต้องไม่เกิน 10% เช่นกัน ซึ่งกลุ่มเงินบริจาคที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สรุปแบบเข้าใจง่าย ดังนี้

  1. บริจาคด้านการศึกษา

มีเงื่อนไขต้องเป็นสถานศึกษาของภาครัฐ เอกชน สถานศึกษาอุดมศึกษาเอกชน หรือกลุ่มอุดมศึกษามีศักยภาพสูงโดยมาจากต่างประเทศแต่ต้องอยู่ในพื้นที่โครงการ EEC (โครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเงินบริจาคดังกล่าวต้องถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ

  • จัดหาหรือสร้างอาคาร ที่ดิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา
  • จัดหากลุ่มวัสดุอุปกรณ์ด้านการศึกษาทุกประเภท
  • มอบทุนการศึกษา ทุนวิจัย หรือจัดหาครูอาจารย์เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา
  1. บริจาคให้กับโรงพยาบาลของรัฐ

จะมีการกำหนดรายชื่อโรงพยาบาลของภาครัฐเอาไว้ว่าหน่วยงานใดเมื่อบริจาคแล้วจะได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า

อย่างไรก็ตามการบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษี 2 เท่า ยังมีกลุ่มเงินบริจาคพิเศษอื่นที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ด้วย แบ่งออกได้ ดังนี้

  • บริจาคสนับสนุนกองทุนพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, งานวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนพัฒนาระบบสาธารณสุข
  • สนับสนุนด้านกีฬาให้กับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
  • สถานศึกษาภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งเสริมการอ่าน
  • กองทุนพัฒนาครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาตามการจัดตั้งของกระทรวง
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อให้คนพิการเข้าถึง ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ หรือสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อคนพิการ
  • องค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือสนับสนุนให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • โครงการฝึกอบรมด้านอาชีพ กิจกรรมเพื่อการบำบัด ฟื้นฟู แก้ไข สงเคราะห์กับเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจหรือศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนต่าง ๆ

ซึ่งใครที่ต้องการบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษี 2 เท่า ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องเป็นรูปแบบบริจาคผ่านระบบ e-Donation หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น (ระบบที่ทางกรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลบริจาคง่ายขึ้น) อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีธนาคารหลายแห่งเปิดให้บริการในด้านนี้จึงสามารถดำเนินการได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

ย้ำอีกครั้งสำหรับใครที่บริจาคเงินเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีอย่าลืมเก็บใบเสร็จหรือใบอนุโมทนาเอาไว้ด้วย เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยัน และค่าลดหย่อนนี้จะต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วเท่านั้น

ข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสรรพากร

รายชื่อ มูลนิธิ สมาคม สถานสาธารณกุศลที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนเงินบริจาค