ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่งออกสินค้า

ขั้นตอนน่ารู้สำหรับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศและเรื่องภาษี Vat 0%

มีหลายธุรกิจที่มองหาช่องทางการขยายโอกาสทางการค้าด้วยการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ นอกจากขั้นตอน เอกสารต่าง ๆ ที่ควรต้องศึกษาแล้ว เรื่องของภาษี Vat 0% หรืออัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 0% ก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด จึงขอรวมเอาข้อมูลดี ๆ สำหรับใครที่ธุรกิจไปได้สวยและมองถึงตลาดต่างประเทศ เพื่อการทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีปัญหาใด ๆ ภายหลัง

ขั้นตอนเบื้องต้นในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

  1. ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกดำเนินการผลิตสินค้าพร้อมจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของการทำเอกสารหรือขั้นตอนดำเนินการด้านศุลกากรจะทำด้วยตนเอง (กรณีมีฝ่ายนี้) หรือจะให้บริษัทตัวแทนขนส่งสินค้าจัดการให้ก็ได้เช่นกัน
  2. เมื่อรับใบระวางเรือ ให้ขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือต้นทางภายในกำหนดการ
  3. ดำเนินการผ่านพิธีศุลกากรขาออก จะดำเนินการด้วยตนเองหรือใช้บริการ Customs Broker ก็ได้เช่นกัน
  4. เมื่อผ่านพิธีทางศุลกากรแล้วก็ทำการขนสินค้าขึ้นยังเรือที่ท่าเรือต้นทาง พร้อมยื่นเอกสารต่าง ๆ ให้ครบถ้วน
  5. ยกสินค้าลงจากเรือพร้อมยื่นเอกสารให้ครบถ้วนเช่นกัน
  6. ดำเนินการพิธีศุลกากรขาเข้าของท่าเรือปลายทาง จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการขนส่งตามลำดับต่อไป

ภาษี Vat 0% กับเรื่องของการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

ตามหลักภาษีอากรการส่งออกสินค้าเพื่อขายก็ถือเป็นอีกรูปแบบในการสร้างรายได้เพื่อธุรกิจ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเดียวกับการขายสินค้าในประเทศตามปกติ ซึ่งประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 77 ระบุเอาไว้ชัดเจน ทั้งนี้หากเป็นองค์กรที่ที่มีรายได้ 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว หรือในกรณีที่มีการส่งออกแล้วสร้างรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องรีบยื่นขอจดทะเบียนภายใน 30 วันเช่นกัน

เมื่อมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 80/1 ก็มีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับกิจการที่ส่งออกสินค้าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% หรือ Vat 0%

การคำนวณภาษี Vat 0% ของการส่งออกสินค้า

สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายเสียภาษี Vat 0% คือ ประเภทสินค้าที่ส่งออกด้วยการผ่านพิธีศุลกากรและมีการรายงานต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลการอย่างถูกต้อง เช่น ประเภทสินค้า, ชื่อผู้ส่งออก, สถานที่ปลายทาง แต่ถ้าหากเป็นการส่งออกในรูปแบบที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร เช่น การนำติดตัวไปเอง หรือการส่งกับไปรษณีย์จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษี Vat 7%

บทสรุปที่น่าสนใจคือ สำหรับธุรกิจที่ส่งออกสินค้าตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง มีการผ่านพิธีทางศุลกากร จะเสียภาษี Vat 0% หรือไม่ต้องเสียภาษีจากการขายสินค้าเพิ่มเติมนั่นเอง ทั้งนี้ยังสามารถยื่นขอคืนภาษีซื้อจากกรมสรรพากรเพิ่มเติมได้ในกรณีที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เรียบร้อย ใครที่คิดขยายธุรกิจหรือส่งออกสินค้าอย่าลืมนำเอาข้อมูลนี้ไปใช้งานกันด้วย

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./2799

วันที่ : 8 เมษายน 2552

เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออก

ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(13 มาตรา 77/1(14) และมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจส่งออกเทียนหอมมีรายได้เกิดจากการส่งออกสินค้า ไม่มีรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าในประเทศ บริษัทฯ เห็นว่า การส่งออกสินค้าย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 โดยไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานสรรพากร (เจ้าพนักงานฯ) ได้เข้าตรวจปฏิบัติการ จึงได้แนะนำให้บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยอดขายจากการส่งออกสินค้าที่ส่งออกก่อนจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานฯ ได้แจ้งให้บริษัทฯ นำส่งภาษีขายในอัตราร้อยละ 7 พร้อมเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากยอดส่งออก ดังกล่าวในส่วนที่เกิน 1,800,000 บาท ซึ่งยอดขายที่ถูกเจ้าพนักงานฯ คำนวณเรียกเก็บนั้น ได้มาจากระบบข้อมูลกรมศุลกากร ตามรายละเอียดใบขนสินค้าขาออก ซึ่งเป็นรายได้จากการส่งออกสินค้า บริษัทฯ เห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากบริษัทฯ เป็น ผู้ประกอบการส่งออกสินค้า มิใช่ผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการในประเทศ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ความเห็นของ บริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

แนววินิจฉัย

หากบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการส่งออกตามมาตรา 77/1 (13) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร เพื่อส่งไปต่างประเทศ การประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการส่งออกสินค้าตามมาตรา 77/1 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อมูลเพิ่มเติม คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 97/2543 เรื่อง การส่งออกสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร