รายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ
รายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ คือรายงานประเภทหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการขายสินค้ามีหน้าที่จัดทำ (มาตรา 87) ซึ่งมีการกำหนดรูปแบบให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งบางธุรกิจอาจจะใช้โปรแกรมบัญชีที่มีการจัดทำระบบสินค้าคงเหลือนี้ในตัวได้เลย ช่วยให้จัดการสต็อกถูกต้อง ตั้งแต่สินค้าจริง ยอดขาย สต็อกการ์ด รายงานต่างๆ
กรณีที่บริษัทนับสินค้าคงเหลือแล้วพบว่า
1.สินค้าที่นับได้จริงน้อยกว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี – สินค้าขาดจากสต๊อก ( สินค้าขาดจากรายงานสินค้าคงเหลือ)
2.สินค้าที่นับได้จริงมากกว่ากว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี – สินค้าเกินจากสต๊อก ( สินค้าเกินจากรายงานสินค้าคงเหลือ)
ทั้ง 2 กรณีมีภาระทางด้านภาษีอากรอย่างไร
ผลกระทำทางภาษีอากร กรณีที่บริษัทฯ ตรวจนับสินค้าคงเหลือ
1. กรณีที่ตรวจพบว่า สินค้าที่นับได้จริงน้อยกว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี หรือ “สินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ“
1.1 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีดังกล่าว ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก “มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร” ซึ่งตามมาตรา 78/3 แหงประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 กำหนดให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้ “ตรวจพบ” ว่าสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบฯ ดังกล่าว
บริษัทฯ จึงต้องนำมูลค่าของสินค้าขาดจากรายงานไปรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีในเดือนภาษีที่ตรวจพบ เพื่อเสียภาษีขายในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่าสินค้าตามราคาตลาดตามมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอาจต้องรับผิดระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (15) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก “ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงาน โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 87 หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 แห่งประมวลรัษฎากร”
1.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
การที่สินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เป็นกรณีที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้าขาดจากรายงานมาถือรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยนำไปปรับปรุงในแบบ ภ.ง.ด.50 – เนื่องจากพิสูจน์ไม่ได้ว่าถูกโจรกรรม ถ้ามีหลักฐานชัดเจนจะสามารถบันทึกเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้
2. กรณีที่ตรวจพบว่า สินค้าที่นับได้จริงมากกว่ากว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี หรือ “สินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ“
2.1 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ อาจต้องรับผิดระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (14) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก (14) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87
2.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ไม่มีผลกระทบใดๆ ในกรณีนี้
การทำลายเศษซาก สินค้ามีตำหนิ สินค้าเสื่อมอายุ สินค้าหมดสมัย สินค้าล้าสมัย สินค้าเสื่อมคุณภาพ ต้องดำเนินการดังนี้ เพื่อบันทึกเป็นรายจ่ายได้
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ประสงค์จะตัดต้นทุนดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ทำลายนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
สินค้าของเสีย เศษซาก เก็บรักษาไม่ได้
ตัวอย่างในกลุ่มนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์
- ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การผลิตอย่างชัดเจน ว่าเกิดของเสีย เศษซาก ปริมาณเท่าไหร่ถือว่าเป็นของเสียตามปกติ และ ส่วนเกินเป็นของเสียเกินปกติ เศษซากคืออะไร
- ต้องชัดเจนในการกำหนดมาตราฐานการผลิต ขอบเขตของเสียปกติ ของเสียเกินปกติ และเศษซากอย่างชัดเจน
- มีการอนุมัติจากกรรมการบริษัท กิจการ ห้างหุ้นส่วนเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี
- มีตัวแทน ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี ให้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย
- ไม่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้
สภาพสามารถเก็บรักษาและรอการทำลายพร้อมกันได้
- ต้องกำหนดหลักเกณฑ์การผลิตอย่างชัดเจน ว่าเกิดของเสีย เศษซาก ปริมาณเท่าไหร่ถือว่าเป็นของเสียตามปกติ และ ส่วนเกินเป็นของเสียเกินปกติ เศษซากคืออะไร
- ต้องชัดเจนในการกำหนดมาตราฐานการผลิต ขอบเขตของเสียปกติ ของเสียเกินปกติ และเศษซากอย่างชัดเจน
- มีการอนุมัติจากกรรมการบริษัท กิจการ ห้างหุ้นส่วนเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน
- แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้
ทั้งสองกรณีสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ
1. ของเสียเกินปกติ / เศษซาก กิจการต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการผลิตไว้อย่างชัดเจนว่าปริมาณของเสียตามปกติคืออะไร เท่าไหร่ ถือว่าเป็นอัตราปกติของกรรมวิธีการผลิต อะไรคือของเสียเกินปกติ เศษซากของแต่ละการผลิตแตกต่างกันอย่างไร
2. ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นของเสียเกินปกติ /เศษซาก / สินค้ามีตำนิ /สินค้าเสื่อมสภาพ /สินค้าล้าสมัย / สินค้าเสื่อมอายุ ทุกกรณี
3. สินค้าได้รับคืน กิจการต้องมีหลักฐานการรับคืน ระบุ รายละเอียดสินค้าที่รับคืน เช่น วัน เดือน ปี ที่รับคืน ปริมาณสินค้าที่รับคืน ชนิด รหัส สาเหตุที่รับคืน เลขที่อ้างอิงการสั่งซื้อสินค้า และลายมือชื่อลูกค้าที่ส่งสินค้าคือน พนักงานที่รับคืนสินค้า และพนักงานฝ่ายคลังที่รับสินค้าไว้เพื่อตรวจรับ
ข้อหารือภาษีอากร
เลขที่หนังสือ: กค. 0706/พ./6444
วันที่: 2 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสินค้าสูญหายเนื่องจากถูกลักขโมย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (12) มาตรา 77/1(8)(9) มาตรา 77/1(8)(จ) มาตรา 79 มาตรา 79/3(3) มาตรา 87(3) มาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายเศษโลหะทุกชนิดโดยรับซื้อจากหลายแหล่งนำมาคัดแยกแล้วอัดเป็นก้อนเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในระหว่างปี 2547 บริษัทฯ ถูกโจรกรรมในเวลากลางคืน และสินค้าของบริษัทฯ ถูกลักขโมย ในวันรุ่งขึ้น บริษัทฯ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุภายในโรงงานเพื่อติดตามจับกุมคนร้าย ต่อมา สถานีตำรวจนครบาล แจ้งว่า พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นให้งดการสอบสวน โดยส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งพนักงานอัยการมีความเห็นให้งดการสอบสวน และมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
บริษัทฯ ขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ ดังต่อไปนี้
1. สินค้าของบริษัทฯ ที่ถูกขโมยเป็นสินค้าที่ไม่มีประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใดๆ มูลค่าของสินค้าที่สูญหายดังกล่าว ถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ ไม่ถือเป็นการขายที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าที่สูญหายไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
3. สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ที่สูญหายเนื่องจากการถูกโจรกรรม เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าที่สูญหายดังกล่าว
4. ภาษีซื้อของสินค้าที่ถูกโจรกรรม เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย
1.กรณีตาม 1 และ 2 สินค้าของบริษัทฯ สูญหาย และบริษัทฯ มีหลักฐานแจ้งชัดว่าสินค้าดังกล่าวถูกโจรกรรม ถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ ผลเสียหายดังกล่าวไม่มีประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำมาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกโจรกรรม มิใช่รอบระยะเวลาบัญชีที่การดำเนินคดีความสิ้นสุด และหากภายหลังบริษัทฯ ได้รับสินค้าคืนหรือได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำจำนวนสินค้าหรือจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระมาถือเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
2. กรณีตาม 3 สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ที่สูญหายเนื่องจากถูกโจรกรรม สินค้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) และ(9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 จากมูลค่าของสินค้าตามราคาตลาดของสินค้าที่ถูกโจรกรรมไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(จ) มาตรา 79 มาตรา 79/3(3) และมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีตาม 4 หากบริษัทฯ ได้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายอื่น ภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เป็นต้องห้าม ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขที่หนังสือ: กค 0706/308
วันที่: 15 มกราคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการทำลายสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี และมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ค. ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารธัญพืช โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัทฯ ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2549 พบว่า มีสินค้าเน่าเสียจำนวนหนึ่ง และไม่สามารถนำออกขายได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ได้ตรวจนับสินค้าคงเหลือ จึงพิจารณารายการสินค้าคงเหลือที่ชำรุดเสียหาย
2. บริษัทฯ ได้ย้ายสถานประกอบการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 บริษัทฯ ตรวจพบว่ามีสินค้าที่อยู่ในสภาพที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสียอีกจำนวนหนึ่งฝ่ายโรงงานจึงเสนอให้มีการทำลายสินค้าที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสีย ซึ่งไม่สามารถจำหน่ายได้
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ ทำลายสินค้าที่ชำรุด เสียหาย และเน่าเสียดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และบริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: กรณีสินค้าเน่าเสียเสื่อมชำรุด เสื่อมคุณภาพ หรือล้าสมัย ที่โดยสภาพไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้
หากบริษัทฯ ได้ทำลายสินค้าซึ่งชำรุดบกพร่องนั้นตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว ไม่ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าที่ได้ทำลาย และ
บริษัทฯ มีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายสินค้าแล้วให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลายเพื่อใช้เป็น หลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งเชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้