รถยนต์กระบะ 4 ประตู กับ ภาษีซื้อ

รถกระบะ 4 ประตู ภาษีซื้อ

ข้อกฎหมาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้บังคับแทนที่พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ได้ออกกฎกระทรวงกําหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 6 สินค้ารถยนต์ สำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด จากพิกัด 06.01 ว่าด้วยรถยนต์นั่ง เป็นพิกัด 06.03 ว่าด้วยรถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม เป็นผลทำให้รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด พ้นจากการเป็นรถยนต์นั่ง ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัตอัตราภาษีสรรพสามิต ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ตามข้อ 2 ของประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะของรถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดคุณลักษณะของรถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) ที่มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตามความใน (3) ของประเภทที่ 06.03 รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีนำหนักรถรวมนำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ไว้ ดังต่อไปนี้

“ข้อ 2 รถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) ที่มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใน (ก) – (ง) และที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใน (จ) ของ (3) ของประเภทที่ 06.03 ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ต้องมีคุณลักษณะครบถ้วนทุกข้อ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี

2.1 ตัวถังวางบนโครงสร้าง (Frame Construction) แบบแชสซีส์ของรถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถไม่น้อยกว่า 1,200 กิโลกรัม มีน้ำหนักบรรทุกไม่น้อยกว่า 1,000 กิโลกรัม และมีน้ำหนักรถรวมนำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรุ่นที่มีการผลิตในประเทศ มีการจัดจำหน่ายทั่วไปหรือส่งออกเป็นปกติวิสัย และจดทะเบียนเป็นรถยนต์กระบะบรรทุกตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

2.2 ระบบกันสะเทือนหลังแบบแหนบ

2.3 ระยะด้านนอกตัวรถยนต์จากแนวขอบด้านหน้าส่วนที่กว้างที่สุดของบานประตูจนถึงด้านหลังสุดของห้องคนขับในแนวระนาบเดียวกัน มีความยาวเกินกว่า 180 เซนติเมตร

2.4 ส่วนท้ายเป็นกระบะเปิดโล่งจนถึงท้ายรถ โดยไม่มีหลังคา และมีความยาวของกระบะไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร”

ผลกระทบต่อภาษีอากร

การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดังกล่าว มีผลกระทบต่อภาษีอากรตามประมวลรัษากรดังนี้

1. ภาษีซื้อสำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนดตามข้อ 2 ของประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะของรถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) รวมทั้งภาษีซื้อสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ไม่ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)

นั่นย่อมหมายความว่า ภาษีซื้อสำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่ได้มาก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ยังคงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่นับรวมเป็นต้นทุนรถยนต์นั่งต่อไป แต่ภาษีซื้อสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าว ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ย่อมสามารถใช้เป็นภาษีซื้อที่นำไปเดรดิตหักภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ แต่ทั้งนี้ หากรถกระบะ 4 ประตูที่ได้มาก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 และได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งตามกฎหมายเดิม หากประสงค์จะใช้ภาษีซื้อสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องเปลี่ยนทะเบียนเป็นรถยนต์บรรทุกเสียก่อน จึงจะสามารถใช้ภาษีซื้อได้

2. ต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนดในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มาโดยการซื้อหรือเช่าซื้อ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ไม่จำกัดมูลค่าต้นทุนที่จำนวนไม่เกิน 1,000,000 บาท อีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว ย่อมไม่กระทบต่อมูลค่าต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 แห่งดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มาโดยการซื้อหรือเช่าซื้อ ก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ยังคงจำกัดมูลค่าต้นทุนที่จำนวนไม่เกิน 1,000,000 บาท อีกต่อไป

3. มูลค่าต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ในส่วนที่เกินกว่า 1,000,000 บาท ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (1) แห่งพระราขกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540

สำหรับมูลค่าต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่ได้มาก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ในส่วนที่เกินกว่า 1,000,000 บาท ยังคงเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (1) แห่งพระราขกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 อยู่ต่อไป

4. ค่าเช่ารถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่เช่าตั้งแต่วันที 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ไม่จำกัดจำนวนที่ 36,000 บาทต่อคันต่อเดือน หรือ 1,200 บาทต่อคันต่อวัน ตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (2) แห่งพระราขกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด จากพิกัดอัตรา 06.01 “รถยนต์นั่ง” เป็นพิกัด 06.03 “รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม” ย่อมส่งผลกระทบต่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งส่วนของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และมูลค่าต้นทุนรถยนต์ในส่วนที่เกินกว่า 1,000,000 บาท และการนำภาษีซื้อเกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวมาเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม นับแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา

ตัวอย่างข้อหารือที่เกี่ยวกับรถยนต์ของบริษัท

ปุจฉา:

เนื่องจากกรรมการของบริษัทฯ ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาให้บริษัทฯ ใช้ โดยไม่มีการเช่า หรือซื้อต่อจากกรรมการ มีการเบิกค่าน้ำมันโดยทำเป็นรายงานระยะทางและระบุลูกค้าที่ไปติตต่อระบุโปรเจ็คชัดเจน บริษัทฯ สามารถเบิกค่าซ่อมแซมรถ และค่าประกันรถคันนี้ได้หรือไม่ เพราะรถคันนี้ใช้วิ่งงานของบริษัทฯ จริงแต่เป็นชื่อกรรมการค่ะ หากเบิกได้ต้องมีเอกสารประกอบอะไร ถือเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทฯ ได้ไหม และต้องถือเป็นรายได้เพิ่มส่วนบุคคลของกรรมการหรือไม่

สุเทพ พงษ์พิทักษ์ วิสัชนา:

กรณีกรรมการของบริษัทฯ ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในกิจธุระของบริษัทฯ โดยไม่มีการเช่า หรือซื้อต่อจากกรรมการ มีการเบิกค่าน้ำมัน โดยทำเป็นรายงานระยะทางและระบุลูกค้าที่ไปติตต่อระบุโปรเจ็คชัดเจน นั้น บริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ได้และมีหนังสืออนุญาตพร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ใดถึงที่ใด ระยะเวลาทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียนรถยนต์ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้ชัดเจน

1. ในส่วนของค่าซ่อมแซมรถยนต์ และค่าประกันรถคันดังกล่าว เนื่องจากการให้ใช้รถยนต์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้ใช้คงรูป ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการเช่ามาใช้บังคับโดยอนุโลม ค่าซ่อมแซมรถยนต์และค่าประกันภัยรถยนต์ต้องตกเป็นภาระของกรรมการ หากบริษัทฯ นำมาถือเป็นรายจ่าย ก็ต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับรายจ่ายดังกล่าวว่า บริษัทฯ รับเป็นภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ แต่ต้องนำไปถือรวมเป็นเงินได้ของกรรมการ ที่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับกรรมการของบริษัทฯ ตามจำนวนที่จ่ายจริงในกรณีที่กรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปทำงานให้บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำค่าน้ำมันดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าน้ำมันรถยนต์ส่วนที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเกินกว่าจำนวนที่กรรมการของบริษัทฯ ได้จ่ายไปจริง ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่าย ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีกรรมการจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าน้ำมันในกรณีนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องมีหลักฐานการใช้รถยนต์และพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นด้วย

 

เลขที่หนังสือ : กค 0706/6969

วันที่ : 13 กรกฎาคม 2550

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์แก่พนักงาน

ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 42(1) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

บริษัทฯ มีนโยบายจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานของบริษัทฯ ในกรณีที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวในกิจธุระของบริษัทฯ ตามอัตราที่กำหนดและประกาศให้พนักงานทราบทุกสิ้นเดือน โดยบริษัทฯใช้อัตราราคาน้ำมันที่สูงที่สุดในเดือนนั้น ๆ ของกระทรวงพลังงานมาคำนวณเพื่อจ่ายคืนแก่พนักงานเดือนละครั้ง และต้องระบุรายละเอียดการเดินทางและกิจธุระที่ทำในหน้าที่ของพนักงานพร้อมใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันที่จ่ายจริง บริษัทฯ หารือว่า

1. บริษัทฯ จะบันทึกค่าน้ำมันที่จ่ายให้กับพนักงานเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ และจะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่

2. พนักงานของบริษัทฯ ต้องนำเงินได้ที่ได้รับดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้กับพนักงานของบริษัทฯ ตามจำนวนที่จ่ายจริงในกรณีที่พนักงานใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางไปทำงานให้บริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯบริษัทฯ มีสิทธินำค่าน้ำมันดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าน้ำมันรถยนต์ส่วนที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเกินกว่าจำนวนที่พนักงานของบริษัทฯ ได้จ่ายไปจริง ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่าย ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีพนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าน้ำมันในกรณีนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จะต้องมีหลักฐานการใช้รถยนต์และพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้นด้วยประกอบกับบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ได้และมีหนังสืออนุญาตพร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ใดถึงที่ใด ระยะเวลาทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียนรถยนต์ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้ชัดเจน

 

เลขที่หนังสือ : กค 0811/16116

วันที่ : 26 พฤศจิกายน 2540

เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการนำทรัพย์สินของใช้ส่วนตัวมาขายในราคาถูก

ข้อกฎหมาย : ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ

บริษัทฯ ได้จัดโครงการตลาดนัดคนเคยรวย เพื่อช่วยเหลือบุคคลให้นำทรัพย์สินของใช้ส่วนตัวมาขายในราคาถูก หรือบริษัทฯ อื่นนำสินค้าค้างสต็อกหรือเครื่องใช้สำนักงานมาขายเลหลัง ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมาขายและซื้อเป็นจำนวนมากโดยบริษัทฯ มิได้คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ได้ประโยชน์ในการส่งเสริมการขายรถเบนซ์ใหม่ ซึ่งการขายสินค้าดังกล่าวผู้ขายจะต้องมีภาระภาษีอย่างไร

แนววินิจฉัย

1. ภาษีเงินได้

1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา

1.1.1 การขายทรัพย์สินสิ่งของใช้ส่วนตัวที่เป็นสังหาริมทรัพย์ที่มิใช่ เรือกำปั่นเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ การขายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็น “การขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร” ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร

1.1.2 การขายสินค้าที่ไม่เข้าลักษณะตามข้อ 1.1.1 หรือการขายเรือกำปั่นเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ เงินได้จากการขายดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 56 และมาตรา 56 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี โดยมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 80 ทั้งนี้ ตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 8(25) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 131) พ.ศ.2526

1.1.3 การขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคาร เงินได้จากการขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคาร เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

ก. หากเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ตามมาตรา 50(5) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ผู้มีเงินได้มีสิทธิจะเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นก็ได้ ตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร

ข. หากเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรซึ่งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ตามมาตรา 50(5)(ข) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วเมื่อถึงกำหนดเวลายื่นรายการ ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นตามมาตรา 48(4) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามมาตรา 3(6)แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(5)แห่งประมวลรัษฎากร และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 247) พ.ศ.2534

1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล

รายได้จากการขายสินค้าหรือทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ต้องนำรายได้นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.1 กรณีบุคคลธรรมดา ได้ขายสินค้าที่เป็นทรัพย์สินสิ่งของใช้ส่วนตัว ตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากการขายสินค้าดังกล่าวไม่ได้กระทำในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร

2.2 กรณีบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ขายสินค้าหรือเครื่องใช้สำนักงานตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องนำมูลค่าที่ได้รับมาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3แห่งประมวลรัษฎากร

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

3.1 กรณีบุคคลธรรมดา ได้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคารที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือที่ดินพร้อมอาคารที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญโดยผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์ และได้อาศัยเป็นเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6)แห่งประมวลรัษฎากร
อนึ่ง กรณีการซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคารมาแล้วขายไป หากการขายดังกล่าวไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 3(1)(2)(3)(4) หรือ (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่ได้กระทำเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และได้อาศัยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น การขาย อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

3.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมอาคาร ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 3(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ตามมาตรา 91/2(6) และมาตรา 91/6(3) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10.0 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่อง กำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535

4. กรณี บริษัทฯ ได้จัดสถานที่ให้กับบุคคลทั่วไปในการขายสินค้า โดยจัดให้มีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นจุดสนใจของประชาชนในการซื้อสินค้าเหล่านั้น โดยบริษัทฯ ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด การจัดสถานที่เพื่อให้บุคคลได้ขายสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการ “บริการ” ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร โดยที่การให้บริการดังกล่าวบริษัทฯ จะไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งนี้เนื่องจากสภาพการณ์ของเศรษฐกิจ และบริษัทฯ ประสงค์จะจัดให้เป็นศูนย์รวมขนาดใหญ่ในการซื้อขายสินค้าของบุคคลผู้ประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ได้ซื้อขายสินค้าดังกล่าวในราคาถูก เพื่อให้มีรายได้มาบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของบุคคลเหล่านั้น และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขายสินค้าของบริษัทฯ การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ โดยไม่มีค่าตอบแทนโดยมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดของการให้บริการนั้น เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร