บัตรกำนัล หรือ Voucher เป็นสิ่งที่กิจการมักนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในการส่งเสริมการขายของกิจการ ย่อมเกิดรายได้ ทำให้ต้องมี ภาษีบัตรกำนัล (Voucher) เข้ามาเกี่ยวข้องหลายประเภท ดังนั้นวันนี้เราจะมาสรุปภาษีที่เกี่ยวข้องกับการขายบัตรแทนเงินสดหรือ Voucher ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ กันค่ะ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ Voucher กันก่อนนะคะ
บัตรกำนัล หรือ Voucher เป็นบัตรที่ผู้ถือสามารถนำไปใช้หรือแลกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ตามรายละเอียดและเงื่อนไขที่ระบุไว้บนบัตร นิยมมอบให้กันเป็นรางวัล หรือมอบเป็นของขวัญให้แก่ผู้อื่นในโอกาสต่างๆ เพราะสะดวกต่อการมอบ การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนเจ้าของ
ภาษีบัตรกำนัล (Voucher) สามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ
กรณีบริษัทแจก Voucher หรือคูปองแก่ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้านำกลับมาซื้อสินค้าหรือรับบริการอีกในครั้งถัดไป โดยมูลค่าของ Voucher จะเป็นไปตามราคาที่กำหนดไว้บน Voucher ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะเข้าลักษณะของ “การส่งเสริมการขาย” โดยจะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าจะแจกอย่างไร ระยะเวลาเท่าไหร่ มีข้อกำหนดอะไรบ้าง โดยจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้
- ภาษีนิติบุคคล
การมอบ Voucher หรือบัตรกำนัลให้แก่ลูกค้าเพื่อส่งเสริมการขาย ส่วนลดนั้นถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ รายจ่ายในกรณีนี้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการใช้ Voucher บัตรกำนัลหรือคูปอง ไม่ถือว่ามีการขายสินค้าหรือให้บริการ
- ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
กรณีบริษัทให้ Voucher บัตรกำนัลหรือคูปองแก่ลูกค้าโดยตรง บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
-
บริษัทมีการขาย Voucher ให้แก่ลูกค้า เพื่อนำมาซื้อสินค้าของบริษัท โดยมูลค่าหน้าบัตรเป็นมูลค่าที่สูงกว่าที่จ่าย
ตัวอย่างเช่น บริษัท A ดำเนินกิจการค้าส่ง มีการขาย Voucher โดยการขาย Voucher ดังกล่าวร้านค้าซื้อในราคา 10,000 บาท จะสามารถนำมาซื้อสินค้าของบริษัท A ได้ ในจำนวน 12,000 บาท
โดยในกรณีนี้บริษัท A มีการส่งเสริมการขายโดยการขาย Discount Voucher ให้แก่ร้านค้า โดยให้ส่วนลดในทันทีที่ขายสินค้าจำนวน 2,000 บาท ส่วนลดที่บริษัทฯ ให้แก่ร้านค้าดังกล่าวมีลักษณะเป็น “ส่วนลดการค้า” ตามมาตรา 79 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อร้านค้านำ Voucher มาใช้ซื้อสินค้าภายในบริษัท
บริษัท A จะต้องแสดง “ส่วนลดการค้า” ดังกล่าวให้เห็นชัดแจ้งในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ดังนี้
ราคาสินค้า 12,000 บาท
หัก ส่วนลดการค้า 2,000 บาท (ไม่นับเป็นมูลค่าฐานภาษี)
มูลค่าสินค้าสุทธิ 10,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 700 บาท
รวม 10,700 บาท
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ส่วนลดการค้าจำนวน 20,000 บาท เป็นส่วนลดที่ให้ทันทีที่ขายสินค้า ไม่เข้าลักษณะเป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการส่งเสริมการขายที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายกับร้านค้า และไม่ถือเป็นการแถมสินค้าพร้อมกับการขายได้ เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นการแถมสินค้าตามข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ได้ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายกับร้านค้า
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การขาย Voucher ให้แก่ลูกค้า โดยที่มูลค่าหน้าบัตรสูงกว่ามูลค่าที่จ่าย เข้าลักษณะเป็นการชำระราคาค่าบริการล่วงหน้า ในขณะที่มีการขายคูปองส่วนลด จะยังไม่เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point) แต่อย่างใด เพราะคูปองส่วนลดเป็นรายการเทียบเท่าเงินสด ต้องรอให้ลูกค้านำคูปองส่วนลดมาใช้ (Exercise) ในการซื้อสินค้าของบริษัทฯ จึงจะเกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการขายสินค้า สำหรับส่วนลดที่เกิดจากการใช้คูปอง ย่อมเป็นส่วนลดการค้าที่บริษัทฯ ให้แก่ลูกค้าในขณะที่มีการขายสินค้า จึงไม่นับรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริกการดังกล่าวอีกแต่อย่างใด
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เงินจำนวน 10,000 จะถือเป็นรายได้ของบริษัท จึงทำให้ต้องนำมาคำนวณเพื่อคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล ในส่วนของเงินส่วนลดจำนวน 2,000 บาท ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ เนื่องจากเงินส่วนลดที่ขายให้แก่ลูกค้าไม่ถือเป็นต้นทุนของสินค้า
-
กรณีเป็นบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่าย Voucher จากผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งบริษัทจะมีการจำหน่ายต่อไปให้แก่ตัวแทน เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายต่อให้แก่ลูกค้า โดยบริษัทจะผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมเมื่อ Voucher นั้นได้ถูกนำไปใช้ชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการ เมื่อบัตรตามที่ตกลงกันไว้ ในกรณีนี้จะมีภาษีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
รายได้การขาย Voucher ให้แก่ตัวแทน ไม่ใช่รายได้จากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากบริษัทมีหน้าในการเป็นตัวกลางในการรับ Voucher มาจากผู้ประกอบการอื่นๆ แล้วทำการส่งต่อให้แก่ตัวแทนเพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอีกทอดหนึ่ง
โดยบริษัทฯ จะได้ผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในการจำหน่าย Voucher จากผู้ประกอบการ ส่วนนี้ถึงจะเป็นรายได้ของบริษัท
ในทางกลับกันค่าตอบแทนที่คำนวณจากมูลค่าหน้าบัตร ที่จะต้องจ่ายให้แก่ตัวแทนจะถือเป็นค่าจ้างที่บริษัทจ่ายให้แก่ตัวแทน เพื่อนำบัตรไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้า
ดังนั้น ค่าธรรมเนียมที่ได้จากผู้ประกอบการเมื่อบัตรเงินสดนั้นได้ถูกนำไปใช้ชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการ และค่าดำเนินการที่จ่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายบัตรเมื่อมีการ Voucher ให้แก่ตัวแทนจำหน่าย ถือเป็นรายได้และรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ
- บัตรเงินสดจัดเป็นการทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง โดยที่สามารถนำบัตรเงินสดไปใช้ชำระราคาสินค้าและบริการต่างๆ แทนเงินสดได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่อยู่ในข้อบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นการขายบัตรเงินสดในช่วงที่บริษัทฯ ขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรวมถึงในช่วงที่ตัวแทนจำหน่ายได้จำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายย่อยๆ รายอื่นๆ ต่อไป
- การที่ตัวแทนจำหน่าย ได้รับค่าดำเนินการจากผู้ขายบัตรให้นั้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในการจัดจำหน่ายบัตรให้แก่บริษัทฯ หรือตัวแทนจำหน่ายที่ได้ขายบัตรให้แก่ตน ค่าดำเนินการที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นค่าบริการที่อยู่ในบังคับที่ผู้จ่าย ซึ่งผู้ขายบัตรที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3
- ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่บริษัทฯ ซึ่งเรียกเก็บจากลูกค้า และค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการเข้าลักษณะเป็นเงินได้ค่าบริการ หากผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ
- การจำหน่าย Voucher จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต่อเมื่อมีการใช้บัตรเงินสดชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าหากเป็นการจำหน่ายบัตรเงินสดในขั้นตอนการขายต่าง ๆ ทั้งตอนที่ขายให้ตัวแทนจำหน่าย และตัวแทนจำหน่ายขายให้ลูกค้า ไม่ได้อยู่ในบังคับที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร
- ค่าดำเนินการที่ตัวแทนจำหน่ายได้รับถือเป็นค่าบริการ ตัวแทนจำหน่ายมี หน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริกการ
- ค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ จัดเป็นการให้บริการตามประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในข้อบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
จากที่กล่าวมาทั้งหมดตงทำให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้จากเรื่อง ภาษีบัตรกำนัล (Voucher) ซึ่งถ้าหากใครมีคำถามหรือข้อสงสัยสามารถทักหา fahthongacc เพื่อสอบถามเพิ่มเติมได้ค่า
อ้างอิง : https://www.rd.go.th/30784.html