ค่าเสื่อมราคาคืออะไร
ค่าเสื่อมราคา คือ ค่าใช้จ่ายที่ทยอยตัดจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่กิจการใช้ประโยชน์และใช้งานได้เกินกว่า 1 ปีขึ้นไป และมักจะมีมูลค่าสูง กิจการต้องประมาณการอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์แต่ละรายการเพื่อทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละงวด
ค่าเสื่อมราคาคำนวณอย่างไร
ค่าเสื่อมราคา = (ราคาทุน-มูลค่าซาก)/อายุการใช้งาน
ราคาทุน คือ ราคาที่ซื้อสินทรัพย์มา บวกด้วยค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นต้องจ่ายไปเพื่อให้สินทรัพย์นั้นพร้อมใช้งาน เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการติดตั้ง เป็นต้น
มูลค่าซาก คือ มูลค่าสินทรัพย์คงเหลือเมื่อหมดอายุการใช้งานหรือเลิกใช้งาน โดยต้องประเมินมูลค่าดังกล่าวให้สมเหตุสมผลที่สุด เพื่อให้ค่าเสื่อมราคาที่บันทึก สะท้อนค่าใช้จ่ายที่ควรจะเป็นของกิจการ
ค่าเสื่อมราคา มี วิธีการคิด 4 วิธี ได้แก่
1.วิธีเส้นตรง – คำนวณจากการนำราคาทุนของสินทรัพย์หักด้วยมูลค่าซาก หารด้วยอายุการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ค่าเสื่อมราคาเท่ากันทุกปี
2.วิธียอดลดลงทวีคูณ – คำนวณโดยใช้สองเท่าของอัตราค่าเสื่อมราคาวิธีเส้นตรงคูณด้วยราคาตามบัญชีของสินทรัพย์ ณ วันต้นงวด
3.วิธีผลรวมจำนวนปี – ผลรวมจำนวนปีคำนวณจากเศษส่วนของอายุการใช้งานคงเหลือของสินทรัพย์ คูณด้วยราคาทุนหักมูลค่าซาก
4.วิธีจำนวนผลผลิต – คำนวณจากการคำนวณหาค่าเสื่อมราคาต่อหน่วยคูณด้วยปริมาณผลผลิตในแต่ละงวดบัญชี
หลักเกณฑ์การคิดค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร มีดังนี้
การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจะต้องไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1. อาคาร
– อาคารถาวร ร้อยละ 5
– อาคารชั่วคราว ร้อยละ 100
2. ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้ ร้อยละ 5
3. ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า
– กรณีไม่มีหนังสือสัญญาเช่าหรือมีหนังสือเช่าที่มีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้ โดยเงื่อนไขในการต่ออายุนั้น เปิดโอกาสให้ต่ออายุการเช่าได้ต่อ ๆ ไป ร้อยละ 10
– กรณีมีสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้ หรือมีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัด ร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการเช่าและอายุที่ต่อได้รวมกัน
4. ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า สิทธิประกอบ กิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น
– กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ ร้อยละ 10
– กรณีจำกัดอายุการใช้ ร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการใช้
5. ทรัพย์สินอย่างอื่น นอกจากที่ดินและสินค้า ร้อยละ 20
เลขที่หนังสือ : กค 0811/ก.194
วันที่ : 12 เมษายน 2545
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (2), มาตรา 65 ตรี (5), มาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
ข้อหารือ : บริษัทฯ ได้เช่าอาคารและพื้นที่เพื่อใช้เป็นสำนักงานและจำหน่ายสินค้า โดยได้ลงทุนตกแต่งพื้นที่ดังกล่าวและลงบัญชีเป็นค่าตกแต่งตัดจำหน่ายในอัตราที่กฎหมายกำหนด ต่อมาได้มีการตกแต่งใหม่ โดยที่ค่าตกแต่งเดิมยังตัดไม่หมด จึงหารือว่า บริษัทฯ จะตัดค่าตกแต่งเดิมที่เหลือออกจากบัญชีได้หรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย : ค่าตกแต่งอาคารและพื้นที่เป็นการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธินำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5)แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่145) พ.ศ. 2527
กรณีที่บริษัทฯ ได้มีการตกแต่งสำนักงานใหม่ โดยมิได้มีการรื้อของเดิมทิ้ง บริษัทฯ จะนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินส่วนที่ยังตัดไม่หมดไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนไม่ได้ ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อไปจนหมด เว้นแต่บริษัทฯ ได้มีการรื้อหรือได้ทำลายทรัพย์สินนั้น บริษัทฯ จึงจะมีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนในปีที่มีการรื้อหรือทำลายได้
เลขที่หนังสือ : กค 0706/11577
วันที่ : 19 พฤศจิกายน 2550
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (5)(13) และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัท ท. ประกอบกิจการเป็นตัวแทนโฆษณาและรับจ้างผลิตงานโฆษณาได้ทำสัญญาเช่าอาคารจากบริษัท น. ตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 6 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 โดยมีสิทธิต่อสัญญาเช่าได้อีก 3 ปี ซึ่งบริษัทฯ ต้องทำสัญญาเช่าใหม่โดยไม่มีค่าสิทธิการเช่า บริษัทฯ ได้ทำการต่อเติมปรับปรุงอาคารเช่าดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายออกแบบตกแต่งภายในค่าก่อสร้างงานปรับปรุงภายใน ปูพื้น กั้นห้อง ทำผนัง เพดาน ประตู รวมถึง Built-in furniture งานระบบไฟฟ้างานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ งานระบบป้องกันเพลิง งานระบบสุขาภิบาล และงานวางท่อโทรศัพท์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,194,326 บาทในปี 2548 และเป็นเงินทั้งสิ้น 136,683 บาทในปี 2549 ตามสัญญาฉบับดังกล่าวเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าบริษัทฯ ต้องส่งมอบพื้นที่เช่าทรัพย์สินส่วนควบอาคารรวมทั้งส่วนประกอบอาคารทั้งเก่าและใหม่ในสภาพที่ดีให้แก่ผู้ให้เช่า
บริษัทฯ ขอทราบว่า
1. บริษัทฯ ต้องคำนวณหักค่าเสื่อมราคาส่วนต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่าในอัตราร้อยละ 5 ตามอัตรา ค่าเสื่อมราคาสำหรับอาคาร หรือสามารถหักค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการเช่า ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
2. บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายจากการเช่าต้นไม้เพื่อวางในบริเวณต่าง ๆ ภายในบริษัทฯเป็นรายเดือน บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
แนววินิจฉัย
1. กรณีตาม 1. ค่าต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่า เป็นการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ก่อให้เกิดประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธินำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
เมื่อบริษัทฯ ได้ต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่าโดยมิได้มีการรื้อของเดิมทิ้ง บริษัทฯ จะนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินส่วนที่ยังตัดไม่หมดไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนไม่ได้ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อไปจนหมด เว้นแต่บริษัทฯ ได้มีการรื้อหรือทำลายทรัพย์สินนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนในปีที่มีการรื้อหรือทำลายได้
อนึ่ง การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้นทุนดังกล่าวต้องหักในฐานะเป็นมูลค่าต้นทุนของอาคารถาวรซึ่งบริษัทฯ หักได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนนั้น ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
2. กรณีตาม 2. รายจ่ายค่าเช่าต้นไม้ เพื่อวางในบริเวณต่าง ๆ ภายในบริษัทฯ เป็นรายเดือน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯมีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
รบกวนสอบถามการคิดค่าเสื่อมราคาส่วนปรับปรุงอาคารเช่า หรือ ส่วนปรับปรุงอาคาร เช่น งานระบบไฟฟ้า งานตกแต่งภายใน อยากทราบว่ามีวิธีวิเคราะห์การคิดค่าเสื่อมราคาทางภาษีควรเป็นอัตราภาษีร้อยละ 5 หรือทรัพย์สินอื่นร้อยละ 20 ค่ะ เนื่องจากที่เข้าใจ ส่วนที่ไม่ใช่หมายถึงอาคาร ซึ่งเป็นส่วนปรับปรุงอาคารดิฉันมองคิดเสื่อมราคาร้อยละ 20 มาตลอด แต่พอได้อ่านข้อหารือกรมสรรพากร ได้มีคำกล่าวไว้ว่าให้ตัดค่าเสื่อมราคาร้อยละ 5 รบกวนท่านอาจารย์แนะนำแนวทางให้ด้วยค่ะ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ผมเห็นว่าพึงต้องพิจารณารายละเอียดของการต่อเติมปรับปรุงอาคารเช่าดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายออกแบบตกแต่งภายในค่าก่อสร้างงานปรับปรุงภายใน ปูพื้น กั้นห้อง ทำผนัง เพดาน ประตู รวมถึง Built-in furniture งานระบบไฟฟ้างานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ งานระบบป้องกันเพลิง งานระบบสุขาภิบาล และงานวางท่อโทรศัพท์
1. หากมิอาจแยกรายละเอียดได้ชัดเจนว่าเป็นต้นทุนของรายการทรัพย์สินใดบ้าง กรมสรรพากรจึงต้องรวมกันมาเป็นการต่อเติมอาคารทั้งจำนวน โดยให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้นทุนดังกล่าวต้องหักในฐานะเป็นมูลค่าต้นทุนของอาคารถาวรซึ่งบริษัทฯ หักได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนนั้น ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
2. อย่างไรก็ตามหากมีการแยกรายละเอืยดได้โดยชัดแจ้งว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการต่อเติมทรัพย์สินรายการใดคิดเป็นมูลคาต้นทุนเท่าใด ก็ย่อมสามารถคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราที่แตกต่างกันตามมาตรา 4 (1) และ (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังนี้
(1) สำหรับค่าใช้จ่ายออกแบบตกแต่งภายในค่าก่อสร้างงานปรับปรุงภายใน ปูพื้น กั้นห้อง ทำผนัง เพดาน ประตู ให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้นทุนดังกล่าวต้องหักในฐานะเป็นมูลค่าต้นทุนของอาคารถาวรซึ่งบริษัทฯ หักได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนนั้น ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
(2) สำหรับค่า Built-in furniture งานระบบไฟฟ้างานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ งานระบบป้องกันเพลิง งานระบบสุขาภิบาล และงานวางท่อโทรศัพท์ ให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้นทุนดังกล่าวต้องหักในฐานะเป็นมูลค่าต้นทุนของอาคารถาวรซึ่งบริษัทฯ หักได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนนั้น ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
กรณีกรรมการได้ให้บริษัทจำกัดใช้อาคารพาณิชย์ของกรรมการเป็นสำนักงานใหญ่เพื่อประกอบกิจการ โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ไม่มีสัญญาเช่า ให้อยู่ฟรีไปตลอด แต่บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าต่อเติมและตกแต่งอาคารเอง ภาษีซื้อที่บริษัทฯ จ่ายไปเพื่อต่อเติมและตกแต่งอาคารนี้ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามหรือไม่ครับ และบริษัทฯ สามารถเอาค่าต่อเติมและตกแต่งมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนได้หรือไม่ ถ้าได้คิดค่าเสื่อมเท่าไหร่ครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
1. สำหรับภาษีซื้อที่บริษัทฯ จ่ายไปเพื่อต่อเติมและตกแต่งอาคารของกรรมการนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า
1.1 หากบริษัทฯ ไม่ได้ยกส่วนต่อเติมให้แก่กรรมการ จนกว่าจะได้ออกไปจากอาคารนั้น ย่อมถือว่า ส่วนต่อเติมไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ที่มีไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อสำหรับค่าต่อเติม (ตกแต่ง) จึงสามารถนำไปถือเป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
1.2 แต่ถ้าบริษัทฯ ยกส่วนต่อเติมที่เป็นส่วนควบของอาคารให้แก่กรรมการในทันทีที่แล้วเสร็จ ภาษีซื้อที่เกิดจากส่วนต่อเติม ถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวกับกิจการ ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร (ดูข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 90/2542 ประกอบ)
2. บริษัทฯ สามารถเอาค่าต่อเติมและตกแต่งมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนได้ ทั้งกรณีที่ไม่ยกให้แก่กรรมการในทันที โดยถือเป็นทรัพย์สินถาวรของบริษัทฯ และกรณีที่ยกให้ในทันทีถือเป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า การคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาให้พิจารณาตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./3764
วันที่ : 2 พฤษภาคม 2556
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการก่อสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่า
ข้อกฎหมาย : มาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการก่อสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่า โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
1. บริษัทฯ เช่าอาคารสำนักงานและอาคารโรงงานจากบริษัท ก. (ผู้ให้เช่า) เป็นเวลา 3 ปี สัญญาเช่ากำหนดว่าผู้ให้เช่าอนุญาตให้บริษัทฯ ต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่าได้ และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า บริษัทฯ ต้องรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมหรือปรับปรุงดังกล่าว
2. บริษัทฯ ขอทราบว่า การต่อเติม ปรับปรุงอาคารที่เช่า ดังนี้ จะขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่
(1) ปรับปรุงอาคารสำนักงานและอาคารโรงงาน โดยกั้นห้องด้วยกระจกผนังเบา ซึ่งทำด้วยแผ่นยิปซัม หรือตะแกรงลวดเหล็กและปูพื้นด้วยกระเบื้องยาง
(2) ต่อเติมห้องเก็บอุปกรณ์ดับเพลิง
(3) ก่อสร้างบ่อน้ำปูนซิเมนต์เพื่อใช้เก็บน้ำหากเกิดเพลิงไหม้ และสร้างโรงรถ ด้วยโครงเหล็กมุงกระเบื้องหลังคาเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า บริษัทฯ ได้รื้อถอนส่วนที่ได้ต่อเติมหรือปรับปรุงบางส่วนไปใช้ที่โรงงานแห่งใหม่ เช่น บานประตูกระจกที่มีกรอบเป็นอลูมิเนียม เป็นต้น ส่วนที่ไม่สามารถใช้กับโรงงานแห่งใหม่ได้และผู้ให้เช่าต้องการไว้ใช้ประโยชน์ เช่น ห้องเก็บอุปกรณ์ดับเพลิง บริษัทฯ จะยกให้ ผู้ให้เช่า แต่ถ้าผู้ให้เช่าไม่ต้องการ เช่น ผนังเบาทำด้วยแผ่นยิปซัม บริษัทฯ ก็จะทำการรื้อถอน
แนววินิจฉัย
1. กรณีที่บริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงอาคารสำนักงานและอาคารโรงงานที่เช่าโดยกั้นห้องด้วยกระจกผนังเบาซึ่งทำด้วยแผ่นยิปซัมหรือตะแกรงลวดเหล็กและปูพื้นด้วยกระเบื้องยาง ตามข้อเท็จจริงข้างต้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการก่อสร้างอาคาร ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการปรับปรุงดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ไม่เข้าลักษณะเป็น ภาษีซื้อต้องห้ามตามข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และหากภาษีซื้อดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามในกรณีอื่นตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
2. กรณีที่บริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงในอาคารที่เช่าเพื่อใช้เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ดับเพลิงตามข้อเท็จจริงข้างต้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการก่อสร้างอาคาร ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการต่อเติมดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 และหากภาษีซื้อดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามในกรณีอื่นตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกับกรณีตาม 1.
3. กรณีการก่อสร้างบ่อน้ำปูนซิเมนต์เพื่อเก็บน้ำ และการสร้างโรงรถด้วยโครงเหล็ก มุงกระเบื้องหลังคาบนอาคารหรือบนที่ดินที่เช่า เข้าลักษณะเป็นการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น การนำอาคารดังกล่าวมาเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขายหรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำไปหัก ออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) ประกอบกับ ข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./614
วันที่ : 11 มีนาคม 2551
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายในการตกแต่งโชว์รูม
ข้อกฎหมาย : มาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัท A เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำเข้า และขายปลีกสินค้าผ้า บริษัทฯ ได้เช่าอาคารเพื่อประกอบกิจการและได้จ้างบริษัท B ทำการออกแบบและตกแต่งภายในอาคาร รวมทั้งซื้อวัสดุสำหรับใช้ในการตกแต่งอาคารตามความเหมาะสม เพื่อทำโชว์รูมเป็นจุดขายของบริษัทฯ โดยจะชำระเงินเป็นงวดจนกว่างานจะเสร็จ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ภาษีซื้อ ที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการตกแต่งภายในอาคาร สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย
รายจ่ายจากการการตกแต่งภายในอาคาร เพื่อทำเป็นโชว์รูมของบริษัทฯ เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อที่ถูกเรียกเก็บดังกล่าว มาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขที่หนังสือ : กค 0702/6161
วันที่ : 4 สิงหาคม 2552
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการทำสัญญาจะซื้อจะขายและการตกแต่งอาคาร
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1 และมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับทุกชนิดฯ โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ ได้ทำ สัญญาซื้อขายที่ดินและอาคารอันเป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทฯ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัทฯ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารผู้จะขาย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 โดยได้ชำระค่าที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างไว้ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ในราคา 16,000,000 บาท แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำสัญญาฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2549 กับผู้จะขาย เพื่อจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารในราคา 51,000,000 บาท โดยได้ตกลงยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2548 และให้นำเงินจำนวน 16,000,000 บาท ที่ได้ชำระให้ผู้จะขายไว้แล้วมาถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่นี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ดำเนินการย้ายสถานประกอบการไปยังสถานที่ แห่งใหม่ บริษัทฯ ยังคงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งของอาคารเป็นสำนักงานใหญ่และเป็นสถานประกอบการของบริษัทฯ มาโดยตลอด ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำการปิดอาคารเป็นการชั่วคราว ในเดือนกรกฎาคม 2551 เพื่อดำเนินการย้ายสถานประกอบการไปยังอาคาร แต่ เนื่องจากอาคารแห่งใหม่อยู่ในระหว่างการตกแต่ง บริษัทฯ จึงไม่สามารถย้ายเข้าไปได้ทั้งหมดในทันที
2. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 บริษัทได้ยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ ตามแบบ ภ.พ.09 โดยแจ้งย้ายสถานที่ตั้งจากสำนักงานใหญ่อาคารเลขที่ … เป็นอาคารเลขที่ และกำหนดให้มีผลในวันที่ 1 กันยายน 2551
3. บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัทออกแบบตกแต่งภายในให้ติดตั้งสาธารณูปโภคพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกแก่อาคารทั้งสองแห่ง และ ได้นำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอาคารทั้งสองตั้งแต่เดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2549 ถึงเดือนภาษีมิถุนายน 2551 มาใช้ใน การคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมขอคืนภาษีซื้อเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,325,579,000 บาท
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อจากการตกแต่งอาคารเลขที่ … และเลขที่ … มาเครดิตภาษีซื้อหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่
2. การที่บริษัทฯ ยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย และตกลงให้นำค่าซื้อขายที่ดินและอาคารจำนวน 16,000,000 บาท ตามสัญญาฉบับ ลงวันที่ 8 เมษายน 2548 มาเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินและอาคารตามสัญญาฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2549 ถือเป็นการขายที่อยู่ในบังคับ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่
แนววินิจฉัย
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อของเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2549 ถึงเดือนภาษีสิงหาคม 2551 พิจารณาได้ ดังนี้
1.1 กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าซื้อวัสดุและค่าจ้างออกแบบเพื่อตกแต่งภายในของสถานประกอบการเลขที่ … เป็นภาษีซื้อ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการบริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการจ่ายเงินดังกล่าวไปคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทฯ ได้ยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (เลขที่ …) เพื่อย้าย ไปยังสถานประกอบการแห่งใหม่นั้น ถือได้ว่า บริษัทฯ ได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้ว ตามความหมายแห่งมาตรา 77/1(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าวัสดุและค่าจ้างออกแบบเพื่อตกแต่งสิ่งปลูกสร้างเลขที่ …เป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้าง อาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขาย หรือให้เช่า หรือนำไปใช้ใน กิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม นำไปหักออกจากภาษีขาย ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
1.2 กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าซื้อวัสดุและค่าจ้างออกแบบเพื่อตกแต่งภายในของสถานประกอบการเลขที่ … ที่จะใช้เป็น สถานประกอบการของบริษัทฯ แห่งใหม่ซึ่งยังไม่เริ่มประกอบการและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อที่บริษัทฯ จ่ายไปดังกล่าว ถือเป็น ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ ถึงแม้ใบกำกับภาษีจะระบุที่อยู่เลขที่ 58/4-5 ซึ่งเป็นสถานประกอบการเดิม ก็ตาม บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีบริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ … ฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2548 ต่อมา บริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ …ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2549 โดยยกเลิกสัญญาฉบับเดิม และนำเงินที่ได้ชำระแล้ว มาถือเป็นค่าซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ถือได้ว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2548 ยังมิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้า หรือหากำไร และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขที่หนังสือ : กค 0811/พ.02174
วันที่ : 8 มีนาคม 2542
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1, มาตรา 82/3, มาตรา 82/4, มาตรา 82/5, มาตรา 92/1,
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342)
พ.ศ. 2541
ข้อหารือ :
1. บริษัท ก จำกัด สถานประกอบการตั้งอยู่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทภาษีขายหักภาษีซื้อ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2539 ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ MERCEDES BENZ และเป็นศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวด้วย
2. อาคารสถานประกอบการของบริษัทปลูกสร้างบนที่ดินของนาง ข ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่ามีกำหนด 20 ปี ได้จดทะเบียนสิทธิเช่าไว้ต่อกัน โดยมีเงื่อนไขว่า บรรดาสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าสร้างลงไปในที่ดินที่เช่าให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันที เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาหรือสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม
3. ระหว่างการตรวจคืนภาษี ปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ทำสัญญาขายกิจการและทรัพย์สินให้กับบริษัท ค จำกัด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 โดยทรัพย์สินที่ขายตามสัญญาประกอบด้วยสิทธิการเช่าที่ดินอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ซึ่งบริษัทฯ ใช้เป็นสถานประกอบการ เครื่องใช้สำนักงานเครื่องตกแต่งเครื่องมือช่าง เครื่องอุปกรณ์ในศูนย์บริการ ทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ ในอาคาร และสิทธิในการใช้เครื่องหมายลิขสิทธิ์ MERCEDES BENZ กำหนดราคาขายรวมภาษีทั้งสิ้น 25,000,000 บาท ตกลงส่งมอบทรัพย์สินภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าและอาคารสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้แจ้งเลิกประกอบกิจการ
4. บริษัทฯ ได้นำรายรับจากการขายกิจการและทรัพย์สิน ยื่นแบบเสียภาษี 2 ประเภท คือ ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับทรัพย์สินอื่น และชำระภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนของอาคารและสิทธิการเช่า สำหรับเดือนภาษีที่มีการรับชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์คือเดือนมิถุนายน 2540 และพฤศจิกายน 2540 ขอทราบว่า บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีอย่างไร
แนววินิจฉัย :
1. กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัท ฯ ได้ทำสัญญาขายกิจการและทรัพย์สินให้แก่ บริษัท ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 โดยมิได้แจ้งเลิกกิจการ แต่ข้อเท็จจริงมิได้แสดงว่าเมื่อบริษัทฯ ขายกิจการไปแล้ว บริษัทฯ ยังคงมีรายได้ หรือยังคงประกอบกิจการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ กรณีจึงต้องแยกพิจารณาดังนี้
(1) กรณีบริษัทฯ ยังคงตั้งอยู่แต่ไม่ได้ประกอบกิจการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่มีรายได้อื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือบริษัทฯ ได้แจ้งเลิกกิจการการขายกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ จะมีภาระภาษีดังนี้
ก. กรณีบริษัทฯ ขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ สิทธิการเช่าที่ดิน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องตกแต่ง เครื่องมือช่าง เครื่องอุปกรณ์ ทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ และสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า นั้น ไม่ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนขายทรัพย์สินดังกล่าว
ข. กรณีบริษัทฯ ขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่งได้แก่ อาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า นั้น ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการโอนขายทรัพย์สินดังกล่าว ตามมาตรา 92/1 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีบริษัทฯ โอนขายกิจการและทรัพย์สินไปแล้ว แต่บริษัทฯ ยังคงตั้งอยู่เพื่อดำเนินกิจการอื่นต่อไป หรือมีรายได้จากการประกอบกิจการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มการขายกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ จะมีภาระภาษีดังนี้
ก. กรณีบริษัทฯ ขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน เข้าลักษณะเป็นการ “ขาย” ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ค ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ข. กรณีบริษัทฯ ขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัท ค ซึ่งได้แก่ อาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า นั้น ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการโอนขายทรัพย์สินดังกล่าว ตามมาตรา 92/1 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เช่นเดียวกับกรณีตาม (1) ข.
2. กรณีบริษัทฯ ปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่า ระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2541 โดยมีเงื่อนไขว่าบรรดาสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินใดๆ ที่ผู้เช่าสร้างลงไปในที่ดินที่เช่า ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญา (20 ปี) หรือเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ขายอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 จึงถือเป็นการขายอาคารฯ ที่ใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกระทำภายในสามปี นับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร จึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามนำไปหักออกจากภาษีขาย ตาม ข้อ 2 (4) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2535