การเช่าแบบลีสซิ่ง (Financial Lease)
• เป็นการเช่าทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อครบสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิ์เลือกซื้อทรัพย์สินในราคาที่ตกลงกันไว้ (Option price / Residual value) ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่า หรือ ต่ออายุ
สัญญาเช่า ตามที่บริษัทพิจารณา
• เหมาะสำหรับ นิติบุคคลที่ต้องการได้รับประโยชน์ทางภาษี จากการนำค่าเช่าที่ผ่อนชำระ ไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ทั้งจำนวน
การเช่าซื้อ (Hire Purchase)
• เป็นการเช่าซื้อทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อครบสัญญาเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์จะถูกโอนไปยังผู้เช่าซื้อโดยอัตโนมัติ
• เหมาะสำหรับ นิติบุคคลที่ต้องการระบุผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน ในเล่มทะเบียนระหว่างการเช่าซื้อ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง, ขนส่ง ฯลฯ หรือธุรกิจที่ต้องการผ่อนชำระในระยะเวลา 1-5 ปี
การขายและเช่า/เช่าซื้อกลับ (Sale and Lease Back/Hire Purchase Back)
• เป็นการที่ผู้เช่า/เช่าซื้อ นำทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และปลอดภาระ มาขายให้แก่บริษัทลีสซิ่ง และทำการเช่า/เช่าซื้อทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปเพื่อใช้ประโยชน์ในธุรกิจต่อไป
• เหมาะสำหรับ นิติบุคคลที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ หรือกรณีที่ลูกค้าได้ลงทุนซื้อทรัพย์สินด้วยเงินสดไปก่อน แล้วจึงนำมาขอสินเชื่อกับ
บริษัทลีสซิ่ง
ตัวอย่าง
– สมมิตว่าซื้อรถยนต์ มูลค่า 4,799,000 บาท
– จ่ายเงินดาวน์ 2,251,264.48 บาท
– ผ่อน 60 งวด งวดที่ 1 – 59 ผ่อนงวดละ 36,000 บาท
– งวดที่ 60 ผ่อน 1,235,750 บาท
– ราคาซากหลังสิ้นสุดสัญญาเช่า 3,471,324 บาท
จากข้อมูล การซื้อรถยนต์โดยสัญญาลิสซิ่ง(ทางการเงิน) จะสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายทางบัญชี และ ค่าใช้จ่ายทางภาษี ดังนี้
ค่าเสื่อมราคาทางบัญชี 1 ปี ( 4,799,000 * 20% *1 ) = 959,800.00 บาท
ค่าเสื่อมราคาทางภาษี 1 ปี ( 4,799,000 + 832,324 ) * 20% * 1 = 1,126,264.80 บาท
เทียบค่างวดที่ผ่อนชำระ 1 ปี ( 36,000 * 12 ) = 432,000.00 บาท
สัญญาเช่าซื้อ
ค่าเสื่อมราคาทางบัญชี 959,800 บาท
ค่าเสื่อมราคาทางภาษี 200,000 บาท
ค่าเสื่อมราคาบวกกลับทางภาษี 759,800 บาท
สัญญาเช่าลิสซิ่ง(ทางการเงิน)
ค่าเสื่อมราคาทางบัญชี 1,126,264.80 บาท
ค่าเสื่อมราคาทางภาษี 432,000 บาท
ค่าเสื่อมราคาบวกกลับทางภาษี 694,268.80 บาท
จากข้อมูลสรุปข้างต้นการซื้อรถยนต์ตามสัญญาลิสซิ่ง ทางบัญชีจะบันทึกเป็นทรัพย์สิน และคำนวณหักค่าเสื่อมราคา แต่ทางภาษีถือว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นการเช่า เนื่องจากกรรมสิทธิ์ตามสัญญายังไม่เป็นของบริษัท จึงต้องบวกกลับค่าเสื่อมทางบัญชีในการคำนวณภาษี และนำค่าเช่าหรือค่างวดที่จ่ายชำระมาหักเป็นรายจ่าย แต่ไม่เกินเพดานที่กำหนด
จากข้อมูลสรุปได้ว่า การซื้อรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง ด้วยสัญญาลิสซิ่ง จะสามารถประหยัดภาษีมากกว่า สัญญาเช่าซื้อ
โดยสามารถนำค่างวดที่ชำระไม่เกินเพดานที่กำหนด คูณ ด้วยระยะเวลาเช่า ซึ่งสามารถหักรายจ่ายได้เท่ากับ
432,000 X 5 = 2,160,000
เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาเช่าซื้อ จะสามารถหักค่าเสื่อมราคาฯ รถยนต์ได้เพียง 1 ล้านบาท นอกจากนี้เมื่อครบสัญญาลิสซิ่ง หากกิจการซื้อซากรถยนต์ มูลค่า 3,471,324 บาท สามารถนำมาบันทึกทรัพย์สิน และคำนวณหักค่าเสื่อมราคาฯ ทางภาษีสำหรับมูลค่าส่วนที่ไม่เกิน 1,000,000 บาทได้อีกด้วย
เลขที่หนังสือ : กค 0702/3929
วันที่ : 7 เมษายน 2558
เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง
ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัท อ. (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทฯ) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียน 460 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้เช่าซื้อและเช่าแบบลีสซิ่งเครื่องจักร และทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ บริษัทฯ ได้ให้บริษัท ท. (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้เช่า) เช่าทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรแบบลีสซิ่ง กำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ต่อมาเดือนธันวาคม 2554 ผู้เช่าประสบปัญหาอุทกภัยอย่างร้ายแรงซึ่งส่งผลให้ทรัพย์สินตามสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งเสียหายโดยสิ้นเชิง บริษัทฯ และผู้เช่าจึงบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดระยะเวลาการเช่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 ซึ่งยังไม่ถึง 3 ปีบริษัทฯ จึงขอหารือว่า สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 นั้น เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่าตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แต่หากภายหลังปรากฏว่า สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งนั้นสิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่าด้วยเหตุสุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคู่สัญญาแล้ว ผู้เช่าย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ใช่หรือไม่
คำว่า “การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง” หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้
กรณีการให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งของบริษัทฯ ซึ่งกลุ่มลูกค้า (ผู้เช่า) ส่วนใหญ่มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 ทำให้ทรัพย์สินที่ให้เช่านั้นเสียหายโดยสิ้นเชิง บริษัทฯ และผู้เช่าจำต้องบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาเช่า 3 ปี ถือว่าเป็นกรณีไม่มีตัวทรัพย์สินที่ให้เช่าด้วยเหตุพิบัติภัยธรรมชาติ สัญญาเช่าจึงระงับลงตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และไม่ทำให้สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่ต้องระงับไปนั้นเปลี่ยนไปเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0แต่เนื่องด้วยกำหนดเวลาเช่าจริงไม่ถึง 3 ปี จึงไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่ได้รับยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย
กรณีการให้เช่าทรัพย์สินข้างต้น บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่ากับผู้เช่าทำสัญญาเช่าเครื่องจักรแบบลีสซิ่งมีกำหนด 5 ปี แต่มีการยกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญา เนื่องจากเครื่องจักรที่ให้เช่าได้รับความเสียหายเพราะเกิดอุทกภัย หากค่าเช่า ค่าธรรมเนียม หรือราคาทรัพย์สิน ที่ผู้เช่าได้จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่าเพราะข้อตกลงตามสัญญาหรือเพราะการเลิกสัญญาก่อนหน้าสัญญาเช่าจะสิ้นสุด มีจำนวนรวมไม่ท่วมมูลค่าของทรัพย์สินที่เช่า ณ วันเริ่มต้นของสัญญาเช่า หรือมีพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงว่าความเสี่ยงทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดยังตกอยู่กับผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน สัญญาดังกล่าวย่อมมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบเช่าดำเนินงาน (OPERATING LEASE) มิใช่สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งอันมีลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินแบบเช่าทางการเงิน (FINANCIAL LEASE) บริษัทฯ ย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขที่หนังสือ : กค 0706/11508
วันที่ : 16 พฤศจิกายน 2550
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินค่าเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัท ซ. (บริษัทฯ ) ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์นั่งแบบลิสซิ่ง (Finance Lease) กับบริษัท ล. (ประเทศไทย) จำกัด สำนักงานฯ ขอหารือ ดังนี้
1. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าเช่ามาถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่
2. บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย
1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาเช่ารถยนต์นั่งแบบลิสซิ่ง รายจ่ายค่าเช่าดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคันละ 36,000 บาทต่อเดือน ตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ.2540
2. กรณีบริษัทฯ ใช้สิทธิซื้อรถยนต์เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่ารถยนต์แบบลิสซิ่ง ถือว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาทได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527
เลขที่หนังสือ : กค 0702/1299
วันที่ : 3 เมษายน 2551
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (13) มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
ข้อหารือ
บริษัท น. จำกัด (บริษัทฯ) ได้เช่าเครื่องจักรเพื่อจะใช้ในการผลิตสินค้า ตามสัญญาเช่า แบบลิสซิ่ง (Lease agreement) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ได้ทำสัญญาขายเพื่อเช่ากลับคืน (Sale and lease back agreement) มูลค่า 20,475,350.08 บาท บริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าเริ่มต้น สัญญาเช่า (Initial rent) ซึ่งในทางบัญชีถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า หากไม่มีข้อตกลงในการจ่าย คืนในอัตราร้อยละ 50 เป็นเงินจำนวน 10,237,675.04 บาท โดยบริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีเป็นมูลค่า ทรัพย์สินส่วนหนึ่งของเครื่องจักร ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 29 ซึ่งกำหนดให้บริษัทฯ ต้อง บันทึกการเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งเป็นทรัพย์สินของกิจการด้วยจำนวนเท่ากับมูลค่ายุติธรรมของ ทรัพย์สินที่เช่า และบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าเช่าแบบลิสซิ่งส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 สัญญาเช่ามี กำหนดเวลา 5 ปี บริษัทฯ จะซื้อเครื่องจักรดังกล่าวเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงราคา 100 บาท ตาม มูลค่าที่ระบุไว้ในสัญญาบริษัทฯ ขอหารือว่า
1. เงินค่าเช่าแบบลิสซิ่งที่บริษัทฯ ต้องจ่ายในแต่ละปี บริษัทฯ มีสิทธิถือเป็นรายจ่าย ตามงวดที่ถึงกำหนดชำระตามสัญญาได้ ใช่หรือไม่
2. เงินค่าเริ่มต้นสัญญาเช่า (Initial rent) ร้อยละ 50 เป็นเงินจำนวน 10,237,675.04 บาท และค่าซื้อเครื่องจักรดังกล่าวเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงราคา 100 บาท บริษัทฯ ต้องปฏิบัติอย่างไร
แนววินิจฉัย
1. เนื่องจากสัญญาเช่าแบบลิสซิ่ง เข้าลักษณะเป็นการเช่าทรัพย์สินอย่างหนึ่ง การจ่าย ค่าเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง ตามข้อเท็จจริงข้างต้น ถ้าทรัพย์สินที่เช่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการและมิใช่เป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เฉพาะค่าเช่าทรัพย์สินดังกล่าวโดยไม่รวม ภาษีซื้อของค่าเช่าทรัพย์สินนั้น ถือเป็นรายจ่ายจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธิ นำไปบันทึกเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จ่ายค่าเช่านั้นไปจริง ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินเริ่มต้นสัญญาเช่า ถือเป็นรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า ทรัพย์สิน และเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ มีสิทธินำเงินค่าเริ่มต้นสัญญา ดังกล่าว มาถือเป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า กรณีมีหนังสือสัญญาเช่าที่ไม่มีข้อกำหนด ให้ต่ออายุการเช่าได้หรือมีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัดแน่นอน ในอัตรา ร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการเช่าและอายุที่ต่อได้รวมกัน ตามมาตรา 4 (3) แห่ง พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
3. กรณีบริษัทฯ ใช้สิทธิซื้อเครื่องจักรเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ถือว่าเครื่องจักรดังกล่าว เป็น ทรัพย์สินของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธินำค่าซื้อเครื่องจักร โดยไม่รวมภาษีซื้อมาเป็นต้นทุนของ ทรัพย์สินเพื่อนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินได้ ตามมาตรา 4 (5) แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527