ในการทำธุรกิจทุกประเภทการดำเนินงานในด้านบัญชีและภาษีอย่างถูกต้องคือสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยลดข้อผิดพลาดและลดโอกาสเสี่ยงในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อทำทุกอย่างได้อย่างแม่นยำก็ไม่มีสิ่งใดให้ผู้บริหารต้องกังวลใจ การยื่นแบบ ภ.ธ.40 ถือเป็นอีกสิ่งที่คนทำธุรกิจบางประเภทต้องรู้จักด้วยเช่นกัน
ความหมายของ ภ.ธ.40
แบบ ภ.ธ.40 เป็นการเรียกเก็บภาษีจากธุรกิจเฉพาะบางประเภทที่กฎหมายกำหนดมาเป็นพิเศษ แยกออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากกิจการธุรกิจ นิติบุคคล โดยผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายธุรกิจเฉพาะ จะต้องมีหน้าที่ในการยื่นคำขอ ภ.ธ.01 ไม่เกิน 30 วันหลังเริ่มกิจการ
ประเภทธุรกิจเฉพาะ 11 ประเภทที่ต้อง ยื่นแบบ ภ.ธ.40
- ธุรกิจการธนาคาร
- ธุรกิจเงินทุน, ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน หลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิแอร์
- ธุรกิจการรับประกันชีวิต
- การรับจำนำ
- ธุรกิจการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
- ธุรกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้า หรือหากำไร
- ธุรกิจการซื้อ และการขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขาย หรือซื้อคืน
- ธุรกิจแฟ็กเตอริง
- การประกอบกิจการตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร
สำหรับผู้ประกอบการที่มีกิจการหลายแห่ง และต้องการยื่นแบบชำระภาษีด้วยกันครั้งเดียว สามารถดำเนินการขออนุมัติที่กรมสรรพากรได้ จึงจะสามารถทำการรวมแบบชำระภาษีเข้าด้วยกันได้
วิธีการยื่นแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.40
- เจ้าของกิจการที่ยื่นจด ภ.ธ.01 แล้ว ดำเนินการยื่นแบบ ภ.ธ.40 โดยการยื่นข้อมูลแสดงประเภทธุรกิจ พร้อมทั้งแสดงรายการจำนวนรายรับ เงินภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงภาษีท้องถิ่น 10 % ของภาษีธุรกิจเฉพาะ
- ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่น ภ.ธ.40 กับสำนักงานสรรพากรตามพื้นที่เขตเดียวกับที่ตั้งสถานประกอบการ โดยต้องดำเนินการยื่นทุกเดือน แม้ว่าในบางเดือนจะขาดทุน หรือไม่มีรายรับก็ตาม
- การยื่นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ
- แบบแรกดำเนินการยื่นที่สรรพากรด้วยตัวเอง โดยสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
- หากไม่สะดวกไปยื่นที่สรรพากร ก็สามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะมีระยะเวลายืดออกให้อีก 8 วันนับจากวันสุดท้ายของการยื่นที่สรรพากร
สำหรับธุรกิจที่ในแต่ละเดือนไม่ว่าภาษีจะมากหรือน้อย ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการตามปกติเช่นเดิม
รูปแบบในการดำเนินการยื่น แบบ ภ.ธ.40 และชำระภาษี
- แบบทั่วไป
สำหรับผู้ที่ประกอบกิจการสามารถยื่นแบบ ภ.ธ.40 พร้อมทั้งทำการชำระภาษีได้เลย โดยต้องดำเนินการยื่นทุกเดือน ไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยสามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรในเขตที่ตั้งของสถานกิจการตั้ง
- แบบกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ในทางค้า หรือหากำไร
กรณีนี้ผู้ประกอบการสามารถยื่น ภ.ธ.40 พร้อมกับการชำระภาษีในขณะจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดได้เลย