เชื่อว่า ปัจจุบันนี้คงไม่มีธุรกิจไหนในประเทศไทยจะเนื้อหอมชวนให้ลูกค้าพุ่งตัวเข้ามาหาเองได้ง่ายไปกว่า ธุรกิจสินเชื่อ โดยเฉพาะ Nano Finance และ Personal Loan จึงทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเดิมอยากเข้าวงการมาเริ่มต้นลงมือทำธุรกิจสินเชื่อประเภทนี้บ้าง แน่นอนการทำธุรกิจเหล่านี้ ไม่ใช่มีแค่เงินก็จะทำได้ บทความนี้จึงขอมาบอกต่อ ข้อควรรู้ เมื่อผู้ประกอบการคิดจะทำธุรกิจสินเชื่อ Nano Finance และ Personal Loan
ความแตกต่างของสินเชื่อ Nano Finance และ Personal Loan
ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดถึงข้อควรรู้ โดยเฉพาะเรื่องทางบัญชี ภาษีต่างๆ มาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนดีกว่าว่า คุณเข้าใจสินเชื่อ Nano Finance และ Personal Loan มากน้อยแค่ไหน ด้วยการพูดถึงความแตกต่างของสินเชื่อ 2 ประเภทนี้ว่า คืออะไรและต่างกันอย่างไร
- สินเชื่อ Nano Finance
สินเชื่อ Nano Finance เป็นสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ หมายถึง สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนําไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์ หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน (หากมีคำว่า ภายใต้การกำกับ จะกำหนดวงเงินรวมไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกหนี้แต่ละราย) ยึดหลักให้กู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพและมีความสามารถพอจะชำระในภายหลัง เมื่อเรียกเก็บดอกเบี้ยชำระล่าช้า ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมกันจนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญาต้องไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี
- สินเชื่อ Personal Loan
สินเชื่อ Personal Loan เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล หมายถึง สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการอะไรก็ได้ รวมถึงสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนําไปใช้ในการประกอบอาชีพ เมื่อเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมกันจนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญา ต้องไม่เกิน ร้อยละ 25 หากเป็นสินเชื่อที่มีรถไว้เป็นประกันต้องไม่เกินร้อยละ 24 ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายเดียวกันสามารถให้บริการสินเชื่อได้ทั้งรูปแบบ Nano Finance และ Personal Loan
ธุรกิจสินเชื่อ Nano Finance และ Personal Loan กับ การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
อีกข้อสงสัยที่มีการสอบถามเข้ามาเยอะมากว่า การประกอบธุรกิจ Nano Finance และ Personal Loan จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่กันแน่ คำตอบอยู่ที่ประเภทของธุรกิจ หากธุรกิจใดมีลักษณะรูปแบบ ‘สถาบันการเงิน’ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 469) พ.ศ. 2551 ได้แก่
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมาย
- บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
- สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
- กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
จึงจะได้สิทธิพิเศษในการลดอัตราภาษีเหลือเพียง 0.01 แต่หากเป็นบริษัทด้านธุรกิจทั่วไปที่ไม่ใช่ประเภทตามนี้และอยากให้บริการสินเชื่อ Nano Finance และ Personal Loan มีลักษณะเป็นการปล่อยกู้ให้กับบุคคลธรรมดายังคงต้องเสียภาษีในอัตรา 3.3% อยู่ ตามมาตรา 91/6 แห่งประมวลรัษฎากร
อากรแสตมป์บนสัญญาระหว่างผู้ให้สินเชื่อและผู้กู้
คำว่า สินเชื่อ พูดกันตามภาษากฎหมายก็คือ สัญญากู้ยืม หากจะถามว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมั้ย? ติดอากรแสตมป์รึเปล่า? ต้องดูกันที่จำนวนเงินที่ลูกค้ากู้ เพราะตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แสดงว่า ถ้าสินเชื่อไม่ถึง 2,000 บาทก็ไม่ต้องทำสัญญาแบบมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ต้องติดอากรแสตมป์แม้แต่บาทเดียว
หากการกู้ยืมนั้นมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไปก็จำเป็นจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ เผื่อในอนาคตมีปัญหาลูกค้าไม่ยอมจ่ายต้องขึ้นโรงขึ้นศาล จะได้นำไปฟ้องร้องเป็นคดีกันได้ และในสัญญานั้นจำเป็นจะต้องติดอากรแสตมป์ด้วย จำนวน 2,000 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท หมายความว่า ถ้ามีจำนวนมากกว่า 2,000 บาท ก็จะต้องเสียมากขึ้น เช่น 4,000 บาท ก็ต้องติด 2 บาท 6,000 บาท ก็ต้องติด 3 บาท เป็นต้น
สรุปแล้ว ธุรกิจสินเชื่อ Nano Finance และ Personal Loan ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?
ปกติแล้ว รายได้ของ ธุรกิจสินเชื่อจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
- รายได้จากดอกเบี้ยตามสัญญาให้กู้ยืม รายได้ประเภทนี้จะถูกนำไปคำนวณตามฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และมีอากรแสตมป์เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อทำสัญญาเป็นหนังสือ
- รายได้จากค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการให้กู้ยืม เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าติดตามทวงถาม ฯลฯ ก็จะถูกนำไปรวม เพื่อคำนวณภาษีตามฐานรายได้ของนิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีเรื่องของอากรแสตมป์แล้ว
โดยภาษีเงินได้จะต้องยื่นภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน จากสุดท้ายของรอบบัญชี หรือ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน จากวันสุดท้ายของรอบหกเดือนแรก ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องยื่น ภ.ธ. 40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ส่วนอากรแสตมป์ จะต้องยื่น อ.ส.4 ข สำหรับคนที่ทำภายในช่วงครึ่งเดือนแรก ให้จัดการภายในวันที่ 22 ของเดือนนั้น หากเป็นครึ่งเดือนหลังให้จัดการภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ทั้งนี้ แม้ว่าลูกหนี้จะผิดนัดชำระ บริษัทก็ยังคงมีหน้าที่ต้องบันทึกรายได้ดอกเบี้ยต่อเนื่องและคำนวณภาษีจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญากู้ยืมหรือฟ้องร้องนำคดีขึ้นสู่ศาล
จะเห็นได้เลยว่า ธุรกิจสินเชื่อ Nano Finance และ Personal Loan มีรายละเอียดทางบัญชี โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับภาษีไม่น้อย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่กำลังสนใจในธุรกิจนี้ นักบัญชี หรือผู้ที่กำลังศึกษาด้านบัญชีก็ตาม ควรศึกษาให้ดีก่อนลงมือ เพราะอย่างที่รู้กันว่า พลาดขึ้นมา อาจโดนโทษจากกรมสรรพากรหนัก แถมเสียหายหลายบาทกันเลยทีเดียว สุดท้ายนี้ หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษา สามารถทักผ่านช่องทางติดต่อตามที่สะดวกได้เลย เราพร้อมยินดีไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องบัญชีให้ไม่มีคำว่า พลาด แม้แต่จุดเดียว!