การหักภาษีหักภาษี ณ ที่จ่าย
1. จ่ายค่าบริการเป็นเงินได้ประเภทใด
2. จ่ายไปประเทศใดมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยหรือไม่
การหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
” มาตรา 70 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 54 มาใช้บังคับโดยอนุโลม “
หรือเราจะมาดูเป็นข้อง่ายๆ ตามนี้
1. เป็นบริษัทต่างประเทศ
2. ที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
3. แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
4. เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5) หรือ (6)
ให้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายภายใน 7 วันของเดือนถัดไป (ภ.ง.ด.54)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
1. ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ) ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 7 วันของเดือนถัดไป(ภ.พ.36)
การจ่ายค่าโฆษณา
บริษัทในประเทศไทยมีการจ่ายค่าโฆษณา Google ให้กับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา เรามาพิจารณาว่า ค่าโฆษณา จัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด และค่าบริการดังกล่าว เป็นให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการในประเทศไทยหรือไม่
1. ค่าโฆษณา จัดอยู่ในเงินได้ประเภท 40(8) ไม่ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
2. การโฆษณา Google แน่นอนต้องมีคนในประเทศไทยเห็น ถือว่าเป็นบริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการในประเทศไทย ต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.36) และบริษัทผู้จ่ายเงินได้สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้
การจ่ายค่า Software
บริษัทในประเทศไทยซื้อโปรแกรม Software จากคู่ค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา เรามาพิจารณาว่า โปรแกรม Software จัดอยู่ในเงินได้ประเภทใด และค่าบริการดังกล่าว เป็นให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการในประเทศไทยหรือไม่
1. ค่าโปรแกรม Software จัดเป็นเงินได้ประเภท 40(3) ค่าสิทธิ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ในการหัก ณ ที่จ่าย 5%
(เพราะประเทศสหรัฐอเมริกา มีการจดอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ระบุว่าถ้าจ่ายค่า Software ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 5%) และนําส่งกรมสรรพากรด้วยแบบ (ภ.ง.ด.54)
2. ค่าโปรแกม Software นั้นถูกนํามาใช้ในประเทศไทย ดังนั้นต้องนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (ภ.พ.36) และบริษัทผู้จ่ายเงินได้สามารถนําใบเสร็จที่ได้จากกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อของบริษัทตนเองได้เช่นกัน
เลขที่หนังสือ : กค 0702/8077
วันที่ : 24 พฤศจิกายน 2551
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายค่าจ้างพัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 70 มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
บริษัท อ. เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการให้บริการในกิจการ ซอฟต์แวร์ประเภทองค์กร ENTERPRISE SOFTWARE มีลักษณะเป็นการออกแบบและพัฒนา สร้างสรรค์โปรแกรมซอฟแวร์ ตามรูปแบบเฉพาะในการใช้งาน (Customization) ที่ลูกค้ากำหนด
บริษัทฯ ให้บริการรับจ้างพัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับ ลูกค้า (เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย) การให้บริการดังกล่าว บริษัทฯ ได้ว่าจ้าง NTL ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสาธารณรัฐอินเดีย ให้พัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตามข้อกำหนดของบริษัทฯ อีกทอดหนึ่งการอนุญาตให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นของลูกค้า ทั้งนี้ NTL และหรือบริษัทฯ ไม่ได้มีลิขสิทธิ์หรือผู้ให้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะนำไปพัฒนาออกแบบและเขียนขึ้นใหม่ โดย NTL ไม่ได้มีสถานประกอบการถาวรหรือสาขาในประเทศไทย เมื่อ NTL ได้จัดทำโปรแกรม คอมพิวเตอร์จนสำเร็จทั้งหมด ตามข้อกำหนดเรียบร้อยในสาธารณรัฐอินเดียแล้ว จะจัดส่ง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ ในประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้แก่ลูกค้าต่อไป ในการว่าจ้างให้พัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้านั้น NTL ต้องพัฒนา ออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นใหม่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าของบริษัทฯ แต่ละราย ไม่สามารถที่จะนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของลูกค้ารายที่ได้พัฒนาออกแบบไปแล้วมาปรับใช้เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับลูกค้ารายอื่นอีก ดังนั้น บริษัทฯ ในฐานะผู้รับจ้างได้ส่งข้อกำหนดต่าง ๆ ตามที่ลูกค้าของบริษัทฯ กำหนดให้กับ NTL เพื่อพัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ๆ NTL มิได้ถ่ายทอดข้อสนเทศหรือประสบการณ์ที่ NTL มีสิทธิหวงกันให้แก่บริษัทฯ หรือลูกค้าของบริษัทฯ แต่อย่างใด สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้พัฒนาขึ้น ถ้าไม่มีการตกลงไว้ใน สัญญาระหว่างลูกค้ากับบริษัทฯ จะตกเป็นของบริษัทฯ
บริษัทฯ ขอทราบว่า
1. ค่าจ้างที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายให้แก่ NTL ถือเป็นการจ่ายค่าจ้างทำของ เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ เมื่อ NTL ให้บริการดังกล่าวในต่างประเทศโดยมิได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย NTL จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าจ้างตามสัญญา ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้แก่ NTL บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด ความเข้าใจ ของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
2. การให้บริการรับจ้างพัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เป็นการให้ บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร NTL ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าบริการ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ NTL มีหน้าที่เสียภาษี ตาม มาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย
1. กรณีบริษัทฯ ว่าจ้างนิติบุคคลในสาธารณรัฐอินเดียให้พัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรม คอมพิวเตอร์ให้แก่บริษัทฯ หากลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นของผู้ว่าจ้าง เงินค่าตอบแทนในการพัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ NTL ได้รับจากบริษัทฯ เป็นเงินได้ตาม สัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบริษัทฯ ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้นเว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตาม มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ค่าตอบแทนในการให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ หาก NTL ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย และหรือไม่ได้ประกอบการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย NTL ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลในประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้แก่ NTL ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
2. กรณีการให้บริการรับจ้างพัฒนาออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ถือเป็นจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็น การให้บริการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการให้บริการนั้น เป็นการให้ บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร NTL มีหน้าที่ต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าบริการ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ NTL มีหน้าที่เสียภาษี ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร